7.11.2554

แจกฟรีแท็บเลต 8 แสนเครื่องเริ่มต้นป.1 ทั่วประเทศไทย



ผู้ค้าไอทีวิ่งฝุ่นตลบ ขานรับนโยบายรัฐบาลใหม่ แจกแท็บเลตเด็ก ป 1. ทั่วประเทศ 800,000 เครื่อง   มูลค่า 5,000 ล้านบาท "อินเทล" แบะท่าประกาศชัดสนใจพร้อมเปิดโต๊ะคุยรัฐบาลเข็นโปรเจ็กต์คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ชูมีประสบการณ์ทำโครงการขนาดล้านเครื่องในโปรตุเกส-อเมริกาใต้   ขณะที่ "โตชิบา-อัสซุส"  รับสนใจแต่ขอดูความชัดเจน    ด้าน "ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น" เผยคนไทยสามารถผลิตแท็บเลตได้เองนายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่านโยบายแจกแท็บเลตพีซี ให้กับเด็กนักเรียกตั้งแต่ชั้นประถมปีที่  1-6 ที่มีนักเรียนทั่วประเทศจำนวน 10 ล้านคน ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะโฟกัสไปที่เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่  1 ก่อน จำนวน 800,000 คนทั่วประเทศ จะใช้วงเงินงบประมาณไม่เกิน 5,000 ล้านบาท โดยแท็บเลตพีซีดังกล่าวจะเป็นเหมือนกับอีบุ๊ก มาพร้อมกับโปรแกรมการเรียนการสอน หรือคอร์สแวร์   และสามารถใช้เครือข่ายไร้สาย ไว-ไฟฟรี   โดยการลงทุนแจกแท็บเลตให้กับเด็กนั้นหากคิดค่าใช้จ่ายต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1.82 บาท  ซึ่งถือเป็นการลงทุนในการพัฒนาบุคลากรที่คุ้มค่าเป็นการเพิ่มศักยภาพคนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ปี 2558    
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดของสเปกเครื่อง โดยอาจต้องรอการรับรองผลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาล โดยโครงการดังกล่าวจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ดูแล    แต่โดยหลักแล้วน่าจะเป็นแท็บเลตหน้าจอขนาด 7 นิ้ว  ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์   เนื่องจากใช้งานโปรแกรมได้หลากหลาย   อีกทั้งยังมีความคงทนสูง  กันน้ำ และกันกระแทก โดยมีราคาไม่เกิน 5,000 บาท/เครื่อง  ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เจรจากับผู้ผลิตรายใด
+อินเทลจ้องคว้าโครงการ
 ด้านนายเอกรัศมิ์  อวยสินประเสริฐ  กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสนใจกับโครงการคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก  (One Tablet per Child)     แต่จะต้องขอศึกษารายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน   ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ  สำหรับโครงการดังกล่าวแน่นอน     โดยขณะนี้มีหลายทางเลือกในการนำเสนออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กหลายทางเลือก   
ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีประสบการณ์ในการนำเสนอคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็ก  ที่มีขนาดระดับ 1 ล้านเครื่อง ในโปรตุเกส บราซิล  และกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้    โดยที่นำเสนอในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องคลาสเมต พีซี   ที่มีลักษณะเป็นเน็ตบุ๊ก หน้าจอ 9 นิ้ว  มีคีย์บอร์ด   แต่ในรูปแบบของแท็บเลต ยังไม่เคยมีประสบการณ์นำเสนอมาก่อน   แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจ     อย่างไรก็ตามมองว่าราคาที่กำหนดไว้อยู่ที่ 5,000 บาทต่อเครื่อง  ซึ่งรวมทั้งซอฟต์แวร์การเรียนการสอน  หรือ คอร์สแวร์ เป็นเรื่องท้าทาย    โดยถือเป็นราคาค่อนข้างต่ำ

นายเอกรัศมิ์  กล่าวว่าแนวทางการนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน สำหรับเด็กนั้น  ในแง่บริษัทคงไม่ได้มุ่งนำเสนอเพียงแค่ ฮาร์ดแวร์ คือ แท็บเลต อย่างเดียว     แต่จะนำเสนอเป็นโทเทิล โซลูชัน  ที่ประกอบด้วย  ฮาร์ดแวร์  ,ซอฟต์แวร์การเรียนการสอน  ซอฟต์แวร์จัดการการเรียนการสอน   การควบคุม  การกระจายสื่อ หรือเนื้อหาการเรียนการสอน    รวมถึงบริการดูแล และบำรุงรักษาเครื่อง  
 "การใช้แท็บเลต ที่เป็นอุปกรณ์สั่งการด้วยทัชสกรีน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กเล็กมากกว่าคีย์บอร์ด    โดยเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างคอนเทนต์ แต่ใช้สำหรับดู และอ่านมากกว่า"
+อัสซุสสนแต่รอดูทีโออาร์
ด้านนายพรเทพ วัชรอำนวย  กรรมการผู้จัดการ บริษัทอัสซุสเทค  คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย)จำกัด  กล่าวว่า บริษัทให้ความสนใจโครงการแท็บเลตเด็กนักเรียนของรัฐบาลใหม่ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มียอดการซื้อสูง    ซึ่งเชื่อว่าไม่มีผู้ผลิตรายใหญ่สามารถผลิตสินค้าเพียงรายเดียวรองรับโครงการดังกล่าวทั้งหมด   น่าจะเปิดให้ผู้ผลิตหลายรายเข้าร่วมโครงการ   อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดโครงการออกมา   ถ้าทีโออาร์ออกมาก็สนใจเข้าไปศึกษา  และอยู่ในช่วงสอบถามไปยังบริษัทแม่ว่าสามารถผลิตสินค้าตามทีโออาร์ที่กำหนดได้หรือไม่

+โตชิบาเชื่อกระตุ้นตลาด
 ส่วนนายถกล นิยมไทย  ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายสินค้าไอที บริษัทโตชิบา (ไทยแลนด์) จำกัด   กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่น่าสนใจ  ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดแท็บเลตคึกคักขึ้น   อย่างไรก็ตามต้องขอศึกษารายละเอียดก่อน   โดยเชื่อว่าผู้ผลิตทุกรายสนใจโครงการดังกล่าว   แต่ราคาที่กำหนดไม่เกิน 5,000 บาท น่าจะเป็นโอกาสของโลคัลแบรนด์ หรือ ผู้ผลิตโออีเอ็ม  ที่สั่งจากโรงงานผลิตในไต้หวันที่มี 50-60 โรงงานมาติดแบรนด์ตัวเอง  แต่สำหรับผู้ผลิตแบรนด์เนมราคาดังกล่าวนั้นค่อนข้างลำบาก  เพราะปัจจุบันขายแท็บเลตกันอยู่ที่ราคาหมื่นกว่าบาท   ซึ่งหากต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวอาจต้องจัดทำเป็นสินค้ารุ่นพิเศษสำหรับนักเรียนขึ้นมา    

+แนะรัฐลงทุนอุปกรณ์เรียนรู้
 ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการไอทีรายหนึ่ง  กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี   ถือเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศ   อย่างไรก็ตามในการลงทุนไม่ควรมองเป็นแค่อุปกรณ์ หรือดีไวซ์   แต่ควรมองว่าเป็นการลงทุนอุปกรณ์การเรียนรู้   ที่ประกอบด้วยตัวฮาร์ดแวร์  ซอฟต์แวร์การศึกษา  และการดูแลรักษา   ซึ่งการตั้งราคาอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ต่ำเกินไป อาจทำให้โครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 
 "การมองเฉพาะฮาร์ดแวร์อย่างเดียว โครงการมีโอกาสสำเร็จและล้มเหลว   ซึ่งถ้าจะให้โครงการดังกล่าวทำงานได้และเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาล จะต้องมองเป็นโซลูชันสำหรับการศึกษา  ที่มีทั้งแท็บเลต  ซอฟต์แวร์การเรียนการสอน และการบำรุงรักษา    ซึ่งการเอาแท็บเลตไปให้เด็กใช้นั้นมีความเสี่ยงในเรื่องของเครื่องหายและชำรุด ซึ่งจะต้องมีแผนรองรับส่วนนี้ด้วย"

+คนไทยทำแท็บเลตได้
 ขณะที่นายสวัสดิ์  เอิบโชคชัย  ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัทฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่ผ่านมาได้พัฒนาต้นแบบคอมพิวเตอร์พกพาแบบแท็บเลตขึ้นมาภายในบริษัทประมาณ 1 ปีแล้ว   โดยที่ผ่านมายังไม่มีใครรู้ว่าบริษัทไทยสามารถพัฒนาแท็บเลตขึ้นมาเองได้    ซึ่งจากการที่รัฐบาลใหม่มีนโยบาย One Tablet per Child  จึงสนใจและพร้อมร่วมกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เพื่อสร้างแท็บเลต สำหรับการศึกษาของเด็กไทยขึ้นมา    โดยจะมีการออกแบบสินค้าให้สามารถใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพและแข็งแรงทนทาน  และเหมาะกับการใช้งานของคนไทย   อาทิ สามารถใส่แบตเตอรี่แบบ  AAA ได้    ขณะที่โปรแกรมสำหรับการศึกษา   และอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งในการลงโปรแกรมจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ   ส่วนราคาเครื่องนั้นสามารถผลิตได้ในราคาประมาณ 3,000-5,000 บาท  แต่มีเสถียรภาพ และความคงทนกว่าสินค้าจากจีน  
 "ที่ผ่านมาบริษัทเป็นผู้ผลิตแผงวงจรฮาร์ดดิสก์ให้กับเวสเทิร์นดิจิตอลเดือนละ 2 ล้านชิ้น  ดังนั้นเชื่อว่าสามารถผลิตแท็บเลต 800,000 เครื่องได้โดยไม่มีปัญหา   ขณะเดียวกันก็จะรวบรวมนักพัฒนาโปรแกรมคนไทย เข้ามาร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาเครื่องมือทางการศึกษาแห่งชาติ    ซึ่งก็จะช่วยให้เงินหมุนเวียนในประเทศ ดีกว่าไปสั่งสินค้าราคาถูกจากจีน ที่ไม่มีความเสถียร มีอายุการใช้งานไม่แน่นอนเข้ามาให้เด็ก "                 
 อนึ่งในอินเดีย  มีโครงการแท็บเลตเพื่อการศึกษา   โดยบริษัท Sakshat  ในอินเดีย ได้ผลิตคอมพิวเตอร์พกพา แท็บเลตราคาถูก  หน้าจอขนาด 7  นิ้ว ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 
โดยสเปกของ Sakshat Tablet   มีหน่วยความจำ หรือ แรม  ขนาด 2  กิกะไบต์  และมีหน่วยความจำภายในสำหรับจัดเก็บข้อมูลขนาดความจุ 32  กิกะไบต์ มีด้านกล้องหน้า  ออกมาขายให้กับประชาชน ราคา 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ   หรือประมาณ 1,085 บาท      ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาอุดหนุนให้กับนักเรียนซื้อไปใช้เพื่อการศึกษาในราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือ ประมาณ 775 บาท    ขณะที่เกาหลีใต้ ประกาศแจกแท็บเลตให้เด็กนักเรียนทุกคนภายในปี 2015

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,651  10-13  กรกฎาคม พ.ศ. 2554

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More